ป้ายกองโจร ผิด กฎหมาย ด้วยหรือ ??? ทุกท่านเคยสังเกตไหมครับช่วงปีหลังๆ มานี้เมื่อเวลาเราขับรถไปตามท้องถนนต่างๆ
ตามริมฟุตบาทท่านจะเห็นคนนั่งถือป้ายอยู่เต็มไปหมดส่วนใหญ่เป็นป้ายโฆษณาคอนโดเปิดใหม่ ธุรกิจเปิดใหม่ต่างๆ บางท่านไม่ได้อยู่วงการเราอาจจะงงว่าเค้ามานั่งกันทำไมทำไมไม่เอาป้ายพวกนี้ติดตามท้องถนนตามสายไฟฟ้าแบบที่เคยทำมา หรือที่เราในวงการทราบกันในชื่อว่า “ ป้ายกองโจร ” หรือ จะเรียกให้อินเตอร์ขึ้นมาหน่อยว่า Street Cutouts
ป้ายกองโจรหรือ Street Cutouts คือป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากทางเขตหรืเทศบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ โดยป้ายส่วนมากจะเป็นโครงไม้และไวนิล ขนาด 120 x 240 เซนติเมตร นิยมติดตั้งตามสถานที่ที่มีการสัญจรพลุกพล่าน (ซึ่งส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย เป็นการลักลอบติดตั้งของเจ้ากิจการหรือร้านทำป้ายเองโดยพละการ เราถึงเรียกกันว่าป้ายกองโจรนั่นเอง) ป้ายที่ขออนุญาตติดตั้งถูกต้องจะสามารถสังเกตได้ง่ายจากตราประทับที่หน่วยราชการออกให้ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าที่บอกว่าผิดกฎหมายนั้นผิดกฎหมายด้านใด ?
ป้ายกองโจร หากนำไปติดตั้งข้างถนนหลวงจะผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติทางหลวงพุทธศักราช 2535 ตามมาตรา 10 ความว่าการโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง โปรย แผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติให้เป็นตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสืออนุญาตด้วย
การขออนุญาต การอนุญาต การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและการงดเว้นค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกระทรวงดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีใดพึงอนุญาตได้หรืออนุญาตไม่ได้ และกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ด้วย
โดยมีหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และประกาศกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.ข้อความหรือภาพในแผ่นประกาศหรือใบปลิวไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2.ผู้ขออนุญาตจะต้องจัดทำคำรับรองเป็นหนังสือว่าจะเก็บ ปลด รื้อ ถอน ขุด ลบ หรือล้างแผ่นประกาศหรือใบปลิว หรือป้ายโฆษณา เมื่อหนังสืออนุญาตหมดอายุไม่เกิน 3 วัน
3.ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การโฆษณาเรื่องใดต้องได้รับอนุมัติข้อความหรือภาพที่ใช้ในการโฆษณา หรือต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดต้องได้รับอนุมัติหรือได้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นแล้ว
4.ป้ายโฆษณาที่จะขออนุญาตติดตั้ง ต้องไม่อยู่ในบริเวณห้ามติดตั้งป้ายโฆษณา อันได้แก่ บริเวณคร่อมถนนหรือทางสาธารณะ วงเวียน อนุสาวรีย์ สะพาน สะพานลอย สะพานลอยคนเดินข้ามสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพานลอย รั้วหรือแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจร และ สัญญาณไฟฟ้าจราจร ป้ายประกาศของราชการ รั่วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ศาลาที่พักผู้โดยสาร เกาะกลางถนน สวนหย่อม สวนสาธารณะ ถนน ต้นไม้ และเสาไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการติดตั้งเพื่องานพระราชพิธี รัฐพิธี หรือการต้อนรับราชการอาคันตุกะหรือแขกเมืองของรัฐบาล
5.การอนุญาตติดตั้งป้ายที่เป็นการค้าจะอนุญาตครั้งละไม่เกิน 60 วัน กานอนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาที่ไม่เป็นการค้า จะอนุญาตครั้งละไม่เกิน 30 วัน
6.ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การกระทำของราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานที่มีอำนาจกระทำ หรือเป็นการโฆษณาด้วยการปิดแผ่นประกาศ ณ สถานที่ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นจัดไว้เพื่อการนั้น หรือเป็นการโฆษณาในการเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการโฆษณาด้วยการปิดประกาศของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือต้นไม้ เพียงเพื่อทราบชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ชื่ออาคาร เลขที่อาคาร หรือข้อความอื่นที่เกี่ยวแก่การเข้าไปและออกจากอาคารนั้น
เห็นไหมครับว่าข้อกำหนดมาตรา 10 ค่อนข้างระบุไว้ชัดเจนว่า การติดตั้งป้ายตามริมท้องถนน เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติฯ ซึ่งจริงๆแล้วในสมัยก่อนหากผู้ประกอบการหรือบริษัททำป้ายเสียภาษีอย่างถูกต้องก็สามารถทำได้ แต่ช่วงหลังหลังทางภาครัฐไม่อนุญาตแล้วเนื่องจากป้ายโฆษณาล้นพื้นที่ ทำให้บ้านเมืองดูไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และส่วนมากผู้ประกอบการไม่ค่อยทำการขออนุญาตกันเนื่องจากเห็นว่ายุ่งยาก และเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ผู้ประกอบการนิยมสั่งทำป้ายกองโจรติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ หากโดนเจ้าหน้าที่รัฐเก็บไป ก็ค่อยมาสั่งทำและติดตั้งใหม่ เนื่องจากป้ายประเภทนี้มีราคาถูกติดตั้งง่าย (แต่ผิดกฎหมายนะครับ)
และนอกจากจะขัดต่อมาตรา 10 แล้ว การติดตั้งป้ายกองโจร ยังเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองอีกด้วย ซึ่งช่วงหลังๆ หลายๆ ท่านคงได้เห็นป้ายกองโจรในแบบที่มีคนคอยยืนถืออยู่ริมฟุตบาทแทนการติดตั้งในรูปแบบเดิมๆ แม้ว่าการจ้างคนถือป้ายในลักษณะนี้ จะมีค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงค่อนข้างสูง แต่เจ้าของธุรกิจหลายหลายเจ้าก็ย่อมลงทุนในจุดนี้ เนื่องจากการจ้าง คนไปยืนถือป้ายโฆษณานั้น ถือเป็นการเลี่ยงไม่ให้ผิดระเบียบพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดนั่นเอง “มนุษย์ป้าย” ถือป้ายลอยขึ้นจากพื้น (ส่วนของป้ายแตะพื้นปุ๊บ ผิดทันที !!) หากมี เจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับกุม มนุษย์ป้ายเหล่านี้ก็จะแค่ยกป้ายเข้าไปในพื้นที่เอกชนซึ่งถือว่าการติดตั้งป้ายในพื้นที่เอกชนไม่ผิดพระราชบัญญัติฯ ตามที่กล่าวมาข้างต้น
เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจที่จะเก็บป้ายกองโจร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียค่าปรับ แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่มักไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของแม้จะมีชื่อโครงการหรือธุรกิจของตัวเองอยู่บนนั้นก็ตาม ทั้งนี้ ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับป้ายกองโจรเช่นกัน เช่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ถือว่าเป็นป้ายที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ต้องรีบเก็บออกเมื่อเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้วครับ
ขอบคุณบมความดีๆ จาก TABDA สมาคมส่งเสริมไทยธุรกิจโฆษณา